5 วิธีบำบัดไมเกรนด้วยวิธีธรรมชาติ

5 วิธีบำบัดไมเกรนด้วยวิธีกรรมชาติ

โรคไมเกรนเป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรังชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่สำคัญคือ อาการปวดศีรษะนั้นมักจะปวดข้างเดียว หรือเริ่มปวดข้างเดียวก่อนแล้วจึงปวดทั้งสองข้าง และแต่ละครั้งที่ปวดมักจะย้ายข้างไปมาหรือย้ายตำแหน่งได้ แต่บางครั้งก็อาจจะปวดทั้งสองข้างขึ้นมาพร้อม ๆ กันตั้งแต่แรก ลักษณะอาการปวดมักจะปวดตุ๊บ ๆ เป็นระยะ ๆ แต่ก็มีบางคราวที่ปวดแบบตื้อ ๆ ส่วนมากจะปวดรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก โดยจะค่อย ๆ ปวดมากขึ้นที่ละน้อยจนกระทั่งปวดรุนแรงเต็มที่แล้วจึงค่อย ๆ บรรเทาอาการปวดลงจนหาย ขณะที่ปวดศีรษะก็มักจะมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย ระยะเวลาปวดมักจะนานหลายชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่จะนานไม่เกิน 1 วัน ในบางรายอาจจะมีอาการเตือนนำมาก่อนหลายนาที เช่น สายตาพร่ามัว หรือ มองเห็นแสงกระพริบ ๆ อาการปวดนั้นไม่เลือกเวลา บางรายอาจจะปวดขึ้นมากลางดึก หรือปวดตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมา บางรายก็ปวดตั้งแต่ก่อนเข้านอนจนกระทั่งตื่นนอนเช้าก็ยังไม่หายปวดเลยก็ได้
อาการปวดศีรษะไมเกรนต่างจากอาการปวดศีรษะธรรมดาตรงที่ว่า อาการปวดศีรษะธรรมดามักจะปวดทั่วทั้งศีรษะ ส่วนใหญ่เป็นอาการปวดตื้อ ๆ ที่ไม่รุนแรงนัก และมักจะไม่มีอาการอื่น เช่น คลื่นไส้ร่วมด้วย ส่วนใหญ่จะหายได้เองเมื่อได้นอนหลับสนิทไปพักใหญ่
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไมเกรน
ปัจจุบันสาเหตุของไมเกรนก็ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด มีอยู่หลายทฤษฎีที่เชื่อว่าน่าจะเป็นไปได้ โดยเชื่อกันว่าอาจจะเกิดจากความผิดปกติที่ระดับสารเคมีในสมอง การสื่อกระแสในสมอง หรือการทำงานที่ผิดปกติไปของหลอดเลือดสมองก็ได้
จากหลักฐานข้อมูลทางระบาดวิทยา ปัจจุบันเชื่อว่าไมเกรนถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่จะเกิดอาการหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งภายในและภายนอกร่างกายที่มากระทบตัวผู้เป็น

5 วิธีบำบัดไมเกรนด้วยตัวเอง
วิธีที่ 1 ดูแลตัวเอง ******
ที่สำคัญคือการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับการกำจัดความเครียดอย่างเหมาะสม

วิธีที่ 2 เลี่ยงปัจจัยกระตุ้น
ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดไมเกรนมีทั้งปัจจัยภายในและภายนอกร่างกาย ที่ควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงมีดังต่อไปนี้
1. การรับประทานอาหารที่มีสารกระตุ้นอาการเริ่มแรกของไมเกรน เช่น ไนไทรต์หรือที่เรียกว่าสารเร่งเนื้อแดงซึ่งพบในเบคอน เนื้อฮอตดอก และเนื้อหมัก ไทรามีน พบในไวน์แดง ตับไก่ อาหารที่ใช้ยีสต์ แทนนิน พบมากในถั่วเปลือกแข็ง น้ำแอปเปิล องุ่น เบอร์รี่ ชา กาแฟ และไวน์แดง ซัลไฟต์ ที่ใช้ในการหมักไวน์และผลไม้แห้ง โมโนโซเดียมกลูตาเมตหรือผงชูรส นอกจากนั้นแล้วยังมีช็อกโกแลต เนยแข็ง อาหารทอด และผลไม้จำพวกส้ม
2. การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากหิวหรือกินอาหารคาร์โบไฮเดรตขัดขาวมากเกินไป
3. อยู่ในภาวะขาดน้ำ ดื่มน้ำน้อยเกินไป รวมทั้งออกกำลังกายมากจนเสียเหงื่อมากเกินไป
4. ความเครียด และความวิตกกังวล
5. นอนหลับน้อย อดนอน หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ
6. อยู่ในที่ที่แสงจ้า หรือได้รับแสงจ้าเกินไป รวมทั้งการนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ
7. อยู่ในสถานที่หรือได้รับฟังเสียงดัง
8. การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศหรือสิ่งแวดล้อม เช่น อากาศแห้งหรือลมร้อนแห้ง อากาศร้อน หรือการอยู่กลางแดดนานๆ
9. กลิ่นบางอย่าง เช่น น้ำหอม ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์
10. การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน อาจเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายหรือการกินยาคุม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับการเกิดไมเกรน ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่เป็นไมเกรนมักจะมีอาการปวดในช่วงที่มีประจำเดือน ความรุนแรงและระยะเวลาในการปวดมักจะมากกว่าในช่วงอื่น นอกจากนี้การตั้งครรภ์ในช่วงเดือนแรกๆ ก็มักจะทำให้ปวดไมเกรนได้มากขึ้น

วิธีที่ 3 ทานอาหารป้องกันไมเกรนบ่อยๆ
เนื่องจากระบบย่อยและดูดซึมแมกนีเซียมของผู้ป่วยไมเกรนมักมีประสิทธิภาพไม่ดี ช่วงก่อนมีอาการหรือกำลังมีอาการจึงพบว่ามักมีปริมาณแมกนีเซียมลดต่ำลง อาหารที่มีแมกนีเซียมจึงช่วยให้ความถี่และความรุนแรงของอาการน้อยลงได้ ซึ่งอาหารที่อุดมไปด้วยแมกนีเซียม ได้แก่ ข้าวกล้อง ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต ผักใบเขียว ฟักทอง นอกจากแมกนีเซียมแล้ว ผู้มีอาการไมเกรนซึ่งมีพลังงานสำรองในสมองต่ำจึงต้องการ ไรโบฟลาวิน เพื่อช่วยเพิ่มพลังสำรองในเซลล์สมอง อาหารที่มีไรโบฟลาวินสูง ได้แก่ เห็ดหอมสด ธัญพืช ข้าวซ้อมมือ มันฝรั่ง และ ผักหวานแคลเซียมและวิตามินดี ช่วยป้องกันไมเกรนได้เช่นกัน พบมากในผักใบเขียว และถั่ว ส่วนในนมถึงแม้มีแคลเซียมสูง แต่อาจกระตุ้นการเกิดไมเกรนในบางคนได้
กรดไขมันโอเมก้า-3 จากปลาทะเล จำพวกปลาทู แซลมอน ทูน่า และซาร์ดีนช่วยให้หลอดเลือดมีความยืดหยุ่น ช่วยบำรุงระบบประสาท และป้องกันไมเกรนได้เช่นกัน

วิธีที่ 4 นวด ประคบ กดจุด
ประคบร้อนและเย็นบรรเทาอาการ
วิธีที่ 1 ประคบเย็นที่หน้าผากหรือคอ ถ้าอาการไม่บรรเทา ให้ประคบร้อนและเย็นพร้อมกัน โดยประคบเย็นที่หน้าผากและประคบร้อนที่ท้ายทอย ประคบสลับที่กันทุก 2 นาที ทำได้ถึง 6 รอบ


วิธีที่ 2 ใช้ผ้าอุ่นจัดวางที่ท้ายทอย แล้วนวดคอ ไหล่ และสะบัก แล้วใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นคลึงเบาๆที่ขมับ จากนั้นใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดหน้า วิธีนี้ช่วยลดอาการปวดไมเกรนเนื่องจากความเครียด
นอกจากการประคบแล้วยังมีการนวดกดจุดที่ช่วยบรรเทาอาการได้เช่นกัน
คลายปวดกับนวดกดจุด
ศาสตร์การแพทย์ตะวันออก เชื่อว่าร่างกายคนเรามีเส้นลมปราณ ที่ทำหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนเลือดและความสมดุลของพลัง แต่เมื่อเกิดความเครียดหรือสภาวะผิดปกติที่ส่วนใด จะส่งผลให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นเกิดอาการตึง เกร็ง เป็นเหตุให้พลังปราณติดขัด ร่างกายจึงเสียสมดุลและเจ็บป่วย จึงต้องนวดกดจุดเพื่อเปิดช่องพลังปราณ เมื่อพลังปราณไหลเวียนดี ร่างกายก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้นการนวดกดจุด จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถบรรเทาอาการปวดไมเกรนได้
1.หน้าผาก

ใช้นิ้วหัวแม่มือ หรือนิ้วชี้ กดจุดช่วงกลางหน้าผาก ระหว่างหัวคิ้ว กดลึกๆ รูดขึ้นด้านบน ตามภาพ ทำต่อเนื่องซักประมาณ 1 นาที หรือจนกว่าอาการปวดจะทุเลา ระหว่างกดให้หายใจเข้าออกลึกๆ
2.มือ
ใช้นิ้วโป้ และนิ้วชี้ ของมือข้างหนึ่ง กดจุดตรงเนินเนื้อที่เชื่อมระหว่างนิ้วโป้และนิ้วชี้ของมืออีกข้าง ทำต่อเนื่องซักประมาณ 1 นาที หรือจนกว่าอาการปวดจะทุเลา ระหว่างกดให้หายใจเข้าออกลึกๆ แล้วสลับทำอีกข้าง
3.คอ
ใช้นิ้วมือวางบริเวณใต้กะโหลกศีรษะ เหนือต้นคอ แล้วรูดออกด้านข้าง ประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร หรือ 1-2 นิ้ว ตามลูกศรในภาพ ทำจนกระทั่งอาการปวดทุเลา จากนั้น เอนคอไปด้านหลังเล็กน้อย แล้วใช้นิ้วโป้กดบริเวณข้างๆ กระดูกคอ ตามภาพกดค้างไว้ซักประมาณ 2 นาที หรือจนกว่าอาการปวดจะทุเลา ระหว่างกดให้หายใจเข้าออกลึกๆ
4.ศรีษะ
ใช้นิ้วชี้กดให้แน่น บริเวณจุดตัดกลางศีรษะ (จุดตัดลากระหว่าง 2 เส้น คือ เส้นหนึ่ง เป็นเส้นที่ลากจากด้านหน้าหูข้างหนึ่งลากไปยังหูอีกข้างหนึ่ง ตัดกับเส้นที่สอง คือเส้นที่ลากระหว่างกลางคิ้วไปตัดที่กลางศีรษะ) กดค้างไว้ซักประมาณ 1 นาที หรือจนกว่าอาการปวดจะทุเลา ระหว่างกดให้หายใจเข้าออกลึกๆ
5.เท้า
ใช้นิ้วโป้ และนิ้วชี้ ของมือข้างหนึ่ง กดจุดตรงเนินเนื้อที่เชื่อมระหว่างนิ้วโป้และนิ้วชี้ของเท้าอีกข้าง ทำต่อเนื่องซักประมาณ 1 นาที หรือจนกว่าอาการปวดจะทุเลา ระหว่างกดให้หายใจเข้าออกลึกๆ แล้วสลับทำอีกข้าง
วิธีที่ 5 สมุนไพรแก้ปวดไมเกรน
ขิง....สมุนไพรคลายอาการปวดไมเกรน
จากการศึกษาวิจัยล่าสุด ในต่างประเทศ ทำการศึกษาวิจัยในผู้ป่วยไมเกรน 100 ราย ในแผนกประสาทวิทยา ของโรงพยาบาลในประเทศอิหร่าน ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มมีระยะการเป็นไมเกรนมาประมาณ 7 ปี มีอาการปวดมากกว่า 2 ครั้งต่อเดือน เปรียบเทียบระหว่างการให้แคปซูลขิง 250 มิลลิกรัม กับยาแผนปัจจุบันชื่อ “ซูมาทริปแทน” ขนาด 50 มิลลิกรัม เมื่อมีอาการปวดไมเกรน ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ทานขิง อาการปวดไมเกรนลดลงดีเทียบเท่ากับกลุ่มที่ทานยาแก้ปวดแผนปัจจุบัน คือสามารถลดอาการปวดไมเกรนได้ถึง 60% ภายในเวลา 2 ชั่วโมงหลังทานยา แต่พบว่าแคปซูลขิง มีข้อดีที่เหนือกว่ายาแผนปัจจุบัน คือ ไม่พบอาการข้างเคียงจากการทานยา ในขณะที่ยาซูมาทริปแทน มักทำให้เกิดผลข้างเคียง คือ ง่วงนอน อาการแสบร้อนที่หน้าอก ( Heartburn) ซึ่งการที่ขิงสามารถบรรเทาอาการปวดไมเกรนได้นั้น น่าจะมาจากการที่ขิงมีฤทธิ์ในการลดกระบวนการอักเสบ ลดอาการปวดในร่างกาย ลดการสร้างสารพรอสตาแกลนดิน (prostiglandins) ที่ทำให้ปวดและอักเสบ ซึ่งยังมีข้อมูลการใช้ของขิงในการบรรเทาอาการปวดข้อ มาก่อนหน้านี้ อีกทั้งขิงยังมีสรรพคุณในการแก้คลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว ซึ่งอาการดังกล่าวมักพบว่าเป็นอาการนำก่อนที่จะมีอาการปวดไมเกรน จึงถือได้ว่าขิงเป็นสมุนไพรอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ผู้ป่วยไมเกรนได้ลองใช้ดูเวลามีอาการกันค่ะ และหากใครชื่นชอบการทานน้ำขิงอยู่แล้ว จะจิบน้ำขิงอุ่นๆ เวลาปวดไมเกรน ก็สามารถทำได้เช่นกันค่ะ
หรือใครที่มีภาวะเครียด นอนไม่ค่อยหลับ จนเป็นสาเหตุที่ทำให้ปวดไมเกรนบ่อยๆ ลองทานบัวบกเสริมดูวันละ 2 เม็ด ทุกวัน มื้อใดก็ได้ ทานเป็นประจำ หรือถ้าใครมีต้นบัวบกปลูกอยู่ที่บ้าน จะคั้นสดกินวันละ 1 กำมือ หรือประมาณ 7-10 ต้น ทานเป็นประจำ จะช่วยลดความกังวล ลดความเครียดและซึมเศร้า ขณะที่การศึกษาในระดับเซลล์ถึงกลไกการออกฤทธิ์บํารุงสมอง พบว่า บัวบกทําให้การหายใจในระดับเซลล์สมองดีขึ้น ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการเสื่อมของเซลล์สมอง คงสภาพปริมาณของสารสื่อประสาทและเสริมฤทธิ์การทํางานของสารสื่อประสาท และยังทําให้หลอดเลือดมีความแข็งแรงสามารถนําเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้ดีขึ้นอีกด้วย ซึ่งน่าจะส่งผลดีทั้งต่ออาการไมเกรน และต่อร่างกายของผู้ทานด้วยนะคะ
วิธีเหล่านี้เป็นวิธีธรรมชาติ อาจไม่ได้ผลเร็วเหมือนยาแผนปัจจุบัน แต่ถือได้ว่าเป็นการปรับร่างกายเราให้กลับเข้าสู่สมดุลปกติอีกทางหนึ่ง ซึ่งใช้เวลาเป็นเดือน ในกรณีที่จำเป็นก็อาจต้องใช้ยาแผนปัจจุบันสักระยะหนึ่งในช่วงแรก สำหรับใครที่ปวดไมเกรนบ่อยๆมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไปต่อสัปดาห์ หรือแม้จะปวดไม่บ่อยแต่รุนแรงมากหรือนานต่อเนื่องกันหลายวัน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อทานยาป้องกันไมเกรน โดยแนะนำให้รับประทานยาป้องกันต่อเนื่องจนอาการสงบลงนาน 6-12 เดือนจึงลองหยุดยาได้ เมื่อกำเริบขึ้นอีกจึงเริ่มรับประทานใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น